สิวผด vs สิวอุดตัน ต่างกันยังไง ดูยังไงว่าเป็นสิวชนิดไหน

Article Read Duration 7 min read

          “สิวผด หรือ สิวอุดตัน...ต่างกันอย่างไร??” สิวผด เป็นสิวเม็ดเล็ก ๆ โดนแล้วไม่เจ็บ สิวอุดตันก็เป็นสิวเม็ดเล็ก ๆ โดนแล้วไม่เจ็บเหมือนกัน แล้วพวกเค้าแตกต่างกันอย่างไร!! มองดูด้วยตาเปล่าก็ยากที่จะแยกได้ เราคงต้องเริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักกับสิวทั้งสองประเภทนี้ก่อน

สิวอุดตัน คืออะไร?

          เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ การผลิตน้ำมันผิดปกติ ซึ่งอาจจะผลิตมากผิดปกติหรือองค์ประกอบของน้ำมันที่ผิดปกติ กับการแบ่งเซลล์ผิวบริเวณรูขุมขนมากผิดปกติ ทำให้เกิดการอุดตันขึ้นในบริเวณรูขุมขน ผิวจึงนูนหนาขึ้นกว่าบริเวณอื่น แต่ไม่มีอาการอักเสบเมื่อไปสัมผัสโดนจึงไม่มีอาการเจ็บ รวมไปถึงไม่มีอาการปวด บวม แสบ แดง คันใด ๆ ร่วมด้วย

สิวผด คืออะไร?

          มีลักษณะเป็นเม็ดผดเล็ก ๆ อาจขึ้นมาเป็นผื่นแดง ๆ จำนวนมาก อาจพบอาการคัน แสบ ร่วมด้วย “สิวผด” เกิดจากการอุดตัน (แต่ไม่ใช่สิวอุดตัน) ภายในรูขุมขน มักพบได้บ่อยบริเวณหน้าผาก (ซึ่งเป็นบริเวณที่ไวต่อความผิดปกติหรือได้รับผลกระทบ/สัมผัสกับปัจจัยต่าง ๆ มากกว่าผิวบริเวณอื่น เช่น ผมหน้าม้า การสัมผัสกับยาสระผม ครีมนวด ทำให้มีสิ่งสกปรกจากผมเกาะสัมผัสกับหน้าผากอยู่ตลอดเวลา) และมักพบมากในช่วงฤดูร้อนที่อากาศร้อนจัด (เพราะแสงแดดสามารถไปกระตุ้นต่อมเหงื่อ ทำให้เกิดการอุดตัน) แม้สิวผดจะเป็นเพียงสิวขนาดเล็ก (มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า) แต่มักมีอาการเห่อเป็นช่วง ๆ และหายไปได้เองในระยะเวลาไม่นาน มักจะเป็น ๆ หาย ๆ พบได้บ่อยในช่วงเวลากลางวันที่มีอากาศร้อนจัด

สาเหตุของการเกิด สิวผด

  • การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
สาเหตุสำคัญของการเกิดสิวผด พบว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน) เมื่ออุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ผิวหนังของจะพยายามขับเหงื่อเพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกาย (ตามกลไกการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายของเรา) เหงื่อที่ถูกขับออกมานี้ เมื่อสัมผัสกับฝุ่นละอองภายนอก อาจส่งผลให้เกิดการอุดตัน ร่วมกับอาการระคายเคืองได้ นอกจากนี้อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังส่งผลให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการสะสมของสิ่งสกปรก ความชื้นที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณเชื้อราเพิ่มมากขึ้น เกิดการอุดตัน กลายเป็นสิวผดร่วมกับอาการระคายเคือง
  • อากาศร้อน
นอกจากอากาศที่ร้อนที่ทำให้เหงื่อออกมากขึ้น หรือบางคนที่มีอาการระคายเคืองที่เกิดจากการแพ้เหงื่อ รวมไปถึงการทำความสะอาดผิวที่ไม่ถูกต้อง เช่น การล้างหน้าด้วยน้ำอุ่น ก็ล้วนส่งผลให้เกิดอาการระคายเคืองและความผิดปกติของการผลิตน้ำมัน เกิดความชื้นสูงขึ้น เชื้อราเจริญเติบโตมากผิดปกติบริเวณรูขุมขน แล้วไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเป็นตุ่มผดแดงเม็ดเล็ก ๆ เห่อขึ้นมา

ความแตกต่างระหว่างสิวผดและสิวอุดตัน

ความแตกต่างระหว่าง “สิวผด” และ “สิวอุดตัน” อาจพิจารณาได้จากตารางด้านล่างนี้

สิวผด

สิวอุดตัน

เม็ดผดขนาดเล็ก ๆ มักมีอาการแสบ คันร่วมด้วย

การอุดตันเล็ก ๆ ทำให้ผิวไม่เรียบ แต่ไม่มีอาการแสบ บวม แดง คัน ร่วมด้วย

มักเกิดจากเชื้อราไปทำปฏิกิริยากับต่อมไขมัน (ซึ่งมีอยู่หนาแน่บริเวณหน้าผาก)

เกิดจากการผลิตน้ำมันและการแบ่งเซลล์ผิวผิดปกติ

มักเห่อในช่วงที่มีอากาศร้อน

(ไม่ขึ้นกับสภาพอากาศ)

มักพบบริเวณหน้าผาก

พบได้ทั่วใบหน้า โดยเฉพาะหน้าผาก

กดออกไม่ได้

สามารถกดออกได้

หายเองได้เมื่อสภาพอากาศดีขึ้น

ไม่หายเอง



          สรุปคือ “สิวผด” คือ การอักเสบของรูขุมขนที่เกิดจากเชื้อรา หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นสิวเชื้อรา มีลักษณะเป็นผื่นเม็ดเล็ก ๆ ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน (เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 มิลลิเมตร) เกิดจากเชื้อรา เจริญเติบโตมากผิดปกติบริเวณรูขุมขน (hair follicle) ส่งผลให้เกิดการอักเสบเป็นตุ่ม ผดแดง ขนาดเล็กเห่อขึ้นมา โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อนชื้น หรือช่วงที่ต้องทำกิจกรรมมากขึ้น เช่น ออกกำลังกาย และมักมีอาการคันบริเวณที่เป็นผื่น ซึ่งแตกต่างจากสิวอุดตันไม่ค่อยมีอาการคัน

วิธีการรักษาสิวผด

          สาเหตุของ “สิวผด” เกิดจากเชื้อรา ดังนั้น ยาฆ่าเชื้อราจึงเป็นทางเลือกแรกในการรักษาสิวผด ซึ่งมีทั้งรูปแบบยาทา และยารับประทาน โดยหากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรครูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา หรือสิวเชื้อรา การรักษามักเริ่มด้วยยารับประทาน เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงกว่ายาทา

การปฏิบัติตัวดูแลลดสิวผด

          นอกจากการใช้ยา หรือผลิตภัณฑ์รักษาสิวแล้ว การปฏิบัติตัว/การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงสาเหตุของการเกิดสิวผดก็เป็นอีกปัจจัยร่วมสำคัญในการแก้ปัญหาสิว (รวมถึงสิวผด)
  1. ไม่นอนดึก (เข้านอนไม่เกิน 5 ทุ่ม) และนอนให้ได้อย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง
  2. ดื่มน้ำมาก ๆ แนะนำให้จิบทีละนิด แต่จิบบ่อย ๆ ในระหว่างวัน
  3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที หากเหงื่ออกแล้วสิวผดเพิ่มมากขึ้นแนะนำให้ใช้ผ้าสะอาดซับเหงื่อที่ออกมาทันที (ไม่ปล่อยไว้นาน หรือไม่ปล่อยให้แห้ง)
  4. หลีกเลี่ยงอาหารที่พบว่ามักจะทำให้เกิดสิว เช่น ของทอด ของมัน ขนมขบเคียว แป้ง ของหวาน
  5. งดการสัมผัสใบหน้า ลูบคลำ (รวมถึงการสัมผัสใบหน้าจากเส้นผม หรือวัสดุอื่น ๆ) และลดการส่องกระจกบ่อย ๆ เพื่อลดความกังวล ซึ่งจะกระตุ้นให้อยากบีบหรือ แกะสิว
  6. ทำความสะอาดใบหน้าด้วยน้ำสะอาดอุณหภูมิปกติ เพียงวันละ 2 เวลา เช้าและก่อนนอน ด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน
  7. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเครื่องสำอางที่อ่อนโยน ไม่ทำให้เกิดการอุดตัน (Non-comedogenic)
          “สิวผด”เป็นหนึ่งในปัญหาสิวที่พบได้บ่อย แม้จะไม่รุนแรงและเห็นชัดเหมือนสิวอักเสบ แต่ก็กวนใจ ทำให้หลายคนสูญเสียความมั่นใจกับผิวหน้าที่ไม่เรียบเนียน รวมไปถึงอาการคันระคายเคืองที่อาจส่งผลต่อบุคลิกภาพได้ การแก้ปัญหาสิวผด...สำคัญที่การป้องกันปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดสิวผด ซึ่งสามารถทำได้อย่างง่ายดายและคุ้มค่ากว่าการแก้ไขอย่างแน่นอน...เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ที่มีผิวบอบบาง มีแนวโน้มเป็นสิวง่าย